Home > ประกันสังคมในต่างแดน > ตอนที่ 11 ประเด็นร้อนในเวทีโลก (1): Social Security for All

ตอนที่ 11 ประเด็นร้อนในเวทีโลก (1): Social Security for All

ประกันสังคมในต่างแดนฉบับนี้และฉบับหน้าผมจะเล่าถึงประเด็นร้อนๆ เกี่ยวกับประกันสังคมซึ่งเป็นโจทย์ยากที่ทั่วโลกกำลังครุ่นคิดกันอยู่ ผมจะจัดทำเป็นซีรีส์พิเศษความยาว 2 ตอนจบ โดยฉบับนี้ขออนุญาตใช้หัวข้อเป็นภาษาฝรั่งว่า Social Security for All และขอแปลเป็นไทยว่า “หลักประกันทางสังคมถ้วนหน้า” ส่วนฉบับหน้าจะพาท่านไปพบกับวิกฤตการณ์ด้านผู้สูงอายุกันครับ

ก่อนเข้าเรื่องขอนอกเรื่องหน่อยครับ ตอนเขียนต้นฉบับนี้ผมตกใจมากเพราะเพิ่งทราบว่าตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นไป วารสารประกันสังคมจะโชว์ใบหน้าของผู้เขียนบทความด้วย ตั้งใจแต่ทีแรกว่าจะไม่เปิดเผยตัว อืม…เห็นหน้าผมแล้วก็อย่าเพิ่งหนีหายกันไปหมดนะ เอาล่ะเรามาเข้าเรื่องกันดีกว่าครับ

ปัจจุบันมีเพียง 1 ใน 5 ของประชากรทั้งโลกเท่านั้นที่มีหลักประกันทางสังคมที่เพียงพอ ลองคิดตามผมช้าๆ นะครับ สมมุติว่ามีเครื่องแต่งกายอยู่ 3 ชิ้น ได้แก่ เสื้อ กางเกง และรองเท้า หากมีคน 5 คนกำลังเดินมาจะมีเพียง 1 คนเท่านั้นที่มีเครื่องแต่งกายครบทั้ง 3 ชิ้น ส่วนอีก 4 คนที่เหลือ บางคนอาจมีเครื่องแต่งกายเพียง 2 ชิ้น 1 ชิ้น หรือไม่มีเลย

…ผมไม่ได้ติดเรท แค่อยากเปรียบเทียบให้เห็นภาพ

คิดดูสิครับว่าชีวิตของ 4 คนที่ว่านั้นมีความเสี่ยงมากแค่ไหน อาจเดินเหยียบเศษแก้วเพราะไม่มีรองเท้า เจอทั้งความหนาวเพราะไม่มีเสื้อใส่ หรือเกิดความอับอายเพราะเสื้อผ้าขาดวิ่น ทำอะไรก็ไม่มั่นใจ เผลอๆ เจอภัยคุกคามอื่นๆ ด้วย

เรื่องของหลักประกันทางสังคมนี้กลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้วหรือกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมมักจะไม่ค่อยมีปัญหาเพราะมีระบบเศรษฐกิจที่มีแบบแผนชัดเจนหรือที่เรียกว่า “เศรษฐกิจในระบบ” (Formal Economy) คือ มีสัญญาจ้างงาน มีนายจ้าง มีเวลาการทำงานแน่นอน มีการจ่ายเงินเดือน ซึ่งเรามักเรียกกลุ่มคนที่ทำงานใน Formal Economy นี้ว่า “แรงงานในระบบ

ที่สำคัญที่สุดก็คือแรงงานในระบบมีโอกาสเข้าถึงความคุ้มครองจากระบบประกันสังคมค่อนข้างมาก เพราะมีลักษณะการจ้างงานที่ชัดเจน แน่นอน และสม่ำเสมอ รู้ว่าเป็นใคร อยู่ที่ไหน ทำอะไร มีรายได้เท่าใด

แต่ขณะเดียวกันก็มีอีกหลายประเทศโดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาที่ประชากรส่วนใหญ่ยังอยู่ในภาคการเกษตร มีผลผลิตตามฤดูกาล มีรายได้ไม่แน่นอน เปลี่ยนแปลงเคลื่อนย้ายบ่อย ไม่มีนายจ้าง ไม่ใช่ลูกจ้าง ประกอบอาชีพส่วนตัว รับจ้าง หรือมีสัญญาเป็นคราวๆ พูดง่ายๆ ว่าการทำงานไม่มีระบบระเบียบชัดเจน มีชื่อเป็นทางการว่า “เศรษฐกิจนอกระบบ” (Informal Economy) ซึ่งคนที่ทำงานลักษณะนี้มักจะถูกเรียกว่า “แรงงานนอกระบบ”

และก็ตรงกันข้ามกับแรงงานในระบบ ประชาชนกลุ่มนี้จะไม่ค่อยได้รับการคุ้มครองจากระบบประกันสังคมด้วยลักษณะการทำงานที่ไม่เป็นกิจจะลักษณะเหมือนแรงงานในระบบ การให้ความคุ้มครองจึงยากขึ้นหลายสิบเท่า

ด้วยเหตุเหล่านี้จึงต้องยอมรับครับว่าการจะขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบมีปัญหารออยู่เต็มไปหมด ทั้งเรื่องการออกแบบสิทธิประโยชน์ การเก็บเงินสมทบ การจัดการฐานข้อมูล การบริหารกองทุน วิธีการให้บริการและอื่นๆ อีกมากมาย

ผมขอยกตัวอย่างสักข้อหนึ่งนะครับ เอาเรื่องเงินสมทบก็แล้วกัน โดยทั่วไปการจัดเก็บเงินสมทบจะเก็บโดยใช้เงินเดือนหรือระยะเวลาที่แน่นอนเป็นฐานในการคำนวณ เช่น กำหนดว่าเก็บเงินสมทบ 5% ของเงินเดือนทุกเดือนใช่ไหมครับ

แต่แรงงานนอกระบบส่วนใหญ่รายได้จะขึ้นอยู่กับผลผลิตหรือผลงานที่ทำ อาจมีรายได้เป็นรายวัน ซึ่งก็บอกไม่ได้ด้วยว่าแต่ละเดือนจะได้เงินเท่าไหร่ หรือบางคน เช่น ชาวนา การจะได้เงินสักก้อนต้องใช้เวลานาน 3-4 เดือน พอขายข้าวได้เงินมาก็ต้องเอาไปใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน ใช้หนี้ ใช้เป็นเงินลงทุนคราวถัดไป และค่าอะไรต่อมิอะไรอีกเพียบ เรียกว่ามีรายจ่ายยืนรออยู่แล้ว

…ที่สำคัญคือ เงินที่ได้จะเป็นจำนวนไม่มากนัก หากต้องนำบางส่วนแบ่งมาส่งเป็นเงินสมทบทุกเดือนก็อาจจะเป็นภาระสำหรับประชาชนกลุ่มนี้ ซึ่งลักษณะเหล่านี้เป็นเหมือนกันทั่วโลก

คิดให้ง่ายขึ้นอีก ก็คือ 1 บาทของคนรวย มีค่าไม่เท่า 1 บาทของคนจน

บางท่านอาจมองว่าเงิน 1 บาทเป็นเงินเพียงเล็กน้อย แต่ถ้านำมารวมกันหลายๆ บาท มันอาจหมายถึงความอยู่รอดของชีวิตคนบางคนในแต่ละวันทีเดียว

…ซึ่งเราก็ยังต้องไม่ลืมว่า 1 บาทของคนรวย มีค่าไม่เท่า 1 บาทของคนจน

คำถามจึงมีอยู่ว่าจะเก็บเงินสมทบอย่างไร? เพราะรายได้ไม่แน่นอน เท่าไหร่จึงจะเหมาะสม พอดี ไม่เป็นภาระต่อประชาชน และไม่เป็นภาระต่อกองทุนและรัฐบาล

นี่แหละครับคือปัญหา และเป็นปัญหาระดับโลกที่ทุกประเทศต่างเอาคิ้วชนกันเวลานั่งจับเข่าคุยกันไม่รู้จะทำอย่างไร ซึ่งโจทย์ในแต่ละประเทศก็มีรายละเอียดแตกต่างกันออกไป

กลับมามองประเทศไทยกันบ้าง เราได้ประกาศขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบ มี 2 แผนความคุ้มครองให้เลือก คือ 1. จ่ายเงินสมทบ 100 บาท ได้สิทธิประโยชน์ 3 ประการ และ 2. จ่ายเงินสมทบ 150 บาท ได้สิทธิประโยชน์ 4 ประการ (ลองหารายละเอียดอ่านดูในเว็บไซต์ของสำนักงานประกันสังคมนะครับ)

คิดง่ายๆ เพียงวันละประมาณ 3-5 บาทเท่านั้น อยู่ในอัตราที่ไม่สูงเมื่อเทียบกับสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ

อ่านมาถึงตรงนี้มีบางท่านอาจเริ่มสงสัยว่าคุณธนิทธิ์ลืมคำพูดตัวเองแล้วหรือว่า 1 บาทของคนรวย มีค่าไม่เท่า 1 บาทของคนจน

ผมไม่ได้ลืม แต่อยากให้มองอย่างนี้ครับ มีคนบอกผมว่า เงินจำนวน 3-5 บาทต่อวันมี ราคาเท่ากับบุหรี่ 1 มวน ดังนั้น ถ้าเรายอมอดบุหรี่วันละมวนหรือยอมงดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นบางอย่างเพื่อสร้างหลักประกันให้กับชีวิตของเรา ซึ่งผลก็คือหลักประกันของครอบครัวด้วย…มันก็คุ้มสุดคุ้ม

จริงอยู่อาจมีเสียงทั้งสนับสนุนและคัดค้านในเรื่องนี้ บางคนเห็นว่าถ้ามีแล้วไม่ดีไม่ต้องมีเสียดีกว่า แต่หลายคนกลับเห็นว่ามีแล้วไม่ดีก็ยังดีเสียกว่าไม่มีเลย ส่วนผมต้องขอยืนยันว่า เรามาถูกทางแล้ว เพียงแต่นี่เป็นเรื่องใหญ่ และใหญ่ระดับโลก ดังนั้น จึงต้องใช้เวลาครับกว่าจะเห็นภาพที่สมบูรณ์

“กรุงโรมไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว” ฉันใด การขยายความคุ้มครองประกันสังคมสู่แรงงานนอกระบบก็ไม่สามารถทำได้เสร็จโดยเร็วฉันนั้น

…เพราะบางครั้งเราต้องใช้เวลาพอสมควรกว่าจะรู้ว่าเขาคนนั้นหรือเธอคนนี้คือคนที่ใช่

…และเพราะนี่ไม่ใช่แค่งานระดับชาติ แต่นี่คืองานระดับโลก

แน่นอนครับเริ่มต้นอาจจะขลุกขลักบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง ก็อย่าเพิ่งท้อใจ เสียใจ แต่นี่เป็นหน้าที่ของรัฐที่จะต้องสร้างหลักประกันพื้นฐาน อย่างน้อยก็เป็นหลักประกันขั้นต่ำสำหรับประชาชนทุกคน

ที่สำคัญ หลายประเทศเขายังทำกันไม่ได้ แต่เราทำได้แล้ว และนำหน้าไปไกลพอสมควร

สุดท้ายต้องขอปรบมือและเป็นกำลังใจให้กับผู้ผลักดันและทีมงานประกันสังคมทุกท่านที่สละเวลาทุ่มเทเพื่อสร้างสรรค์สิ่งดีๆ นี้ขึ้นมา

…และสำหรับก้าวแรกสู่การสร้างหลักประกันทางสังคมถ้วนหน้า หรือ Social Security for All ครับ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ในวารสารประกันสังคม ปีที่ 17 ฉบับที่ 4 เมษายน 2554

 

  1. No comments yet.
  1. No trackbacks yet.

Leave a comment